ฮอนด้า มอเตอร์ (Honda Motor) จากสองล้อสู่สี่ล้อ และพัฒนาต่อในฐานะผู้นำด้านอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างไม่หยุดยั้ง
หากจะให้เอ่ยถึงยี่ห้อรถยนต์รวมไปถึงรถจักรยานยนต์ในบ้านเรา แน่นอนว่าชื่อแรกที่หลายคนนึกถึงก็คงจะหนีไม่พ้น Honda อย่างแน่นอน เพราะเป็นรถที่เราคุ้นเคยกันดีมาตั้งแต่อดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบัน เรียกได้ว่าหลาย ๆ คนนั้นเติบโตมากับ Honda เลยก็ว่าได้ และนอกจากจะเป็นที่รู้จักกันดีในบ้านเราแล้ว อีกหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกก็รู้จักชื่อ Honda กันเป็นอย่างดีเช่นเดียวกัน โดยบริษัทฮอนด้า มอเตอร์ (Honda Motor) นั้นก็เป็นบริษัทผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ทางด้านยานยนต์มากมายไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ รถบรรทุก จักรยานยนต์ รวมไปถึงเครื่องจักรอุตสาหกรรมหนักอีกหลายประเภท มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งที่มาที่ไปของบริษัทยานยนต์ระดับโลกที่มีมาอย่างยาวนานนั้นได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 24 กันยายน ปี 1948 โดยนายโซอิจิโร่ ฮอนดะ เด็กชายผู้ที่เติบโตขึ้นมาในหมู่บ้าน Tenryu ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ใกล้กับภูเขาไฟฟูจิในเมือง Hamamaysu ประเทศญี่ปุ่น โดยครอบครัวของเขามีอาชีพเป็นช่างตีเหล็กและซ่อมรถจักรยานเก่ามาหลายช่วงอายุคน นั่นจึงทำให้โซอิจิโร่ ฮอนดะ ได้มีโอกาสคลุกคลีอยู่กับเครื่องยนต์กลไกมาตั้งแต่เด็ก ๆ จึงช่วยหล่อหลอมและปลูกฝังให้เขามีพื้นฐานทางวิศวกรรมที่ดีมาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
สิ่งที่จุดประกายให้โซอิจิโร่ ฮอนดะ มีความใฝ่ฝันที่จะสร้างรถยนต์ขึ้นมานั่นก็คือ เมื่อเขามีอายุได้ประมาณ 10 ขวบ มีรถยนต์คันหนึ่งขับผ่านเข้าไปในหมู่บ้าน ซึ่งนั่นก็สร้างความตื่นตาตื่นใจให้เขาเป็นอย่างมากจนทำให้เกิดปณิธานอย่างแรงกล้าขึ้นมาว่า สักวันหนึ่งเขาจะต้องสร้างรถยนต์ขึ้นมาด้วยตนเองให้ได้ ในตอนนั้นโซอิจิโร่ ฮอนดะ ก็เป็นเด็กที่มีผลการเรียนที่ไม่ได้โดดเด่นเท่าไหร่นักเพราะว่าเขาไม่ชอบการอ่านและเขียนในตำรา แต่เขากลับมีความสวรรค์และฝีมือดีในการสร้างสรรค์งานประดิษฐ์ต่าง ๆ มากกว่า ดังนั้นเมื่อเขาอายุได้ 15 ปีจึงตัดสินใจไม่เรียนหนังสือต่อและเข้ามาหางานทำที่โตเกียว โดยงานแรกที่ได้ก็คืองานลูกมือของช่างซ่อมเครื่องยนต์ที่อู่ซ่อมรถ Art Shokai และหลังจากการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่โตเกียวในปี 1923 ช่วงนี้เป็นช่วงที่ทำให้โซอิจิโร่ ฮอนดะ ได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องยนต์จากนายช่างได้อย่างเต็มที่เนื่องจากเหล่าบรรดาช่างที่ประจำอยู่ในโอกาสก็แยกย้ายลากลับบ้านกันหมดเนื่องจากความเสียหายของแผ่นดินไหว นอกจากเรียนรู้เรื่องเครื่องยนต์แล้วก็ยังถูกเจ้าของอู่ปลูกฝังในเรื่องของการแข่งรถอีกด้วย และจุดนี้นี่เองที่ทำให้รถของ Honda กลายเป็นรถแข่งที่อยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลกในปัจจุบัน
หลังจากที่โซอิจิโร่ ฮอนดะ งานให้กับอู่ Art Shokai มาเป็นเวลากว่า 6 ปี ก็ได้ตัดสินใจกลับไปยังบ้านเกิดซึ่งในตอนนั้นเขามีอายุได้ 21 ปี โดยได้รับความไว้วางใจจาก Art Shokai ให้เป็นตัวแทนสาขาย่อยที่บ้านเกิด และได้รับอิสระในการสร้างผลงานและสิ่งใหม่ ๆ จนได้รับฉายาว่า "Edison of Japan" และในปี ค.ศ. 1936 เขาก็ได้ก่อตั้งบริษัท โตไก เซอิคิ ขึ้นมาเพื่อผลิตและส่งวงแหวนลูกสูบ (piston rings) ให้บริษัท Toyota ในตอนนั้น แต่ก็ประสบความล้มเหลวเนื่องจากการประสบอุบัติเหตุในระหว่างแข่งรถ โดยที่เขาต้องรักษาตัวเป็นเวลานานกว่า 3 เดือน และในช่วงที่รักษาตัวอยู่นั้นก็พบว่าสินค้าล็อตแรกกว่า 30000 ชิ้นที่ส่งไปให้ทาง Toyota ตรวจสอบนั้นผ่านมาตรฐานของโรงงานเพียง 3 ชิ้นเท่านั้น เรียกได้ว่ามีมาตรฐานการผลิตที่ต่ำมากเลยทีเดียว ซึ่งความล้มเหลวในครั้งนี้ทำให้โซอิจิโร่ ฮอนดะ ตระหนักถึงความสำคัญของความรู้และทฤษฎีต่าง ๆ ที่อยู่ในตำราและหนังสือเรียนซึ่งเขาเคยมีอคติมาตลอดว่าจะไปสู้การลงมือปฏิบัติจริงได้อย่างไร และนั่นเองจึงทำให้เขาตัดสินใจลงเรียนภาคค่ำเกี่ยวกับลูกสูบ และได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมโรงงานอุตสาหกรรมทั่วทั้งเกาะญี่ปุ่นเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการผลิตและการควบคุมคุณภาพให้ได้มาตรฐาน และนำมาปรับใช้ในโรงงาน จึงทำให้เขาสามารถผลิตวงแหวนลูกสูบตามมาตรฐานของ Toyota ได้สำเร็จในที่สุด
ทุกอย่างเหมือนกำลังไปได้สวยแต่โซอิจิโร่ ฮอนดะ ก็ต้องเจอวิกฤตจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนวัตถุดิบที่เป็นเหล็ก หรือบริเวณที่ตั้งของโรงงานอยู่ใกล้สนามบินทำให้ตกเป็นเป้าของการทิ้งระเบิด และก็ไม่พลาดที่จะถูกระเบิดลงถึง 2 ครั้งทำให้โรงงานของเขาเสียหายเกินกว่าจะซ่อมแซมได้ไหว ทำให้เขาตัดสินใจขายบริษัทให้กับ Toyota ในราคา 450000 เยน และใช้สุราจมปลักอยู่กับความโศกเศร้าและผิดหวังนานนับปีจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านไป เขาจึงได้พบว่าไม่ว่าจะอย่างไร ท้ายที่สุดแล้วผู้คนก็ยังคงต้องการความสะดวกในการเดินทางอยู่ดี จึงใช้โอกาสนี้ลองประดิษฐ์เครื่องยนต์ขนาดเล็กแบบง่าย ๆ เพื่อนำไปติดตั้งกับรถจักรยานเพื่อให้ภรรยาของเขาได้ใช้ โดยถูกเรียกว่าเป็นรุ่น Model A Type ซึ่งมีเพื่อนบ้านสนใจให้เขาผลิตรถจักรยานแบบติดเครื่องยนต์มากพอสมควรเลยทีเดียว ทำให้เขามองเห็นลู่ทางในการสร้างธุรกิจใหม่ ซึ่งในช่วงนั้นเขาก็ได้พบกับ ทาเกโอะ ฟูจิซาวะ นักธุรกิจที่เดินทางมาโตเกียวเพื่อหาเงินทุนสำหรับดำเนินกิจการโรงงานสร้างรถจักรยานยนต์ และทั้งคู่ก็ได้ร่วมมือกันจนเป็นที่มาของการก่อตั้งบริษัท Honda Motor ขึ้นมา โดยได้มีการสร้างรถจักรยานยนต์รุ่น D -Type หรือที่เราคุ้นเคยกันดีในชื่อ Honda Dream ที่เรียกได้ว่าเป็นรถรุ่นเบิกเนตรหรือรุ่นแจ้งเกิดของทาง Honda เลยก็ว่าได้ โดยมียอดขายอย่างถล่มทลายทำให้บริษัท Honda Motor เป็นบริษัทผลิตรถจักรยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นในระยะเวลาเพียง 2 ปีเท่านั้น และได้มีการเติบโตมากขึ้นด้วยการผลิตรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ ๆ อย่าง Super Cub เพื่อส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ ทำให้บริษัท Honda Motor นั้นเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในตลาดโลกมากยิ่งขึ้นและประสบความสำเร็จในการผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์เป็นอย่างมาก
ภายหลังจากที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในการผลิตรถจักรยานยนต์ โซอิจิโร่ ฮอนดะ ก็ได้สานต่อความฝันในวัยเด็กของเขาด้วยการผลิตรถยนต์เป็นของตัวเอง ซึ่งในปี 1970 บริษัท Honda Motor ก็ได้ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์เป็นครั้งแรกโดยสร้างความแตกต่างจากรถยนต์ที่มีอยู่ในท้องตลาดช่วงนั้นด้วยการผลิตเครื่องยนต์ที่มีการสร้างมลพิษต่ำขึ้นมาและได้นำไปใช้กับรถยนต์รุ่น Honda Civic ในปี 1973 ซึ่งตรงกับช่วงวิกฤตการณ์น้ำมันแพงพอดี จึงทำให้ Honda Civic ได้รับรางวัลรถยนต์ประเภทประหยัดเชื้อเพลิงมากที่สุดในสมัยนั้นและได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา และบริษัท Honda Motor ก็ได้กลายมาเป็น Top 3 ของผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่นในช่วงปลายปี 1980 ในที่สุด
ปัจจุบันสำนักงานใหญ่ของ Honda Motor หรือ บริษัท อุตสาหกรรมและวิจัยฮอนด้า มหาชนจำกัด ตั้งอยู่ที่กรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น และสำหรับในประเทศไทย บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ก็ได้เริ่มดำเนินธุรกิจในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2526 ส่วนรถจักรยานยนต์ใช้ชื่อว่า บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด ซึ่งเรียกว่าเป็นผู้ผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยรายหลัง ๆ แล้ว แต่ปัจจุบันฮอนด้าก็ได้กลายเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์นั่งรายใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยมีการเติบโตของยอดจำหน่ายที่รวดเร็วมากในบ้านเรา และด้วยความมุ่งมั่นในการสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้า ปัจจุบัน Honda ก็มีผู้จำหน่ายกระจายอยู่ทั่วแทบทุกจังหวัดของประเทศไทย เพื่อให้ครอบคลุมการให้บริการลูกค้าได้อย่างทั่วถึง และนอกเหนือจากการผลิตรถยนต์นั่งเพื่อจำหน่ายภายในประเทศแล้ว ทาง Honda ก็ยังเล็งเห็นความสำคัญของประเทศไทยในการใช้เป็นฐานในการผลิตรถยนต์นั่งเพื่อส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ในแถบภูมิภาคนี้ ซึ่งก็ได้มีการส่งออกทั้งในรูปรถยนต์สำเร็จรูปและชิ้นส่วน และได้ลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถยนต์แห่งใหม่มูลค่า 17,150 ล้านบาทในจังหวัดปราจีนบุรีอีกด้วย
3 โมเดลรถยนต์คู่บุญที่ช่วยพา Honda Motor แจ้งเกิดได้อย่างสง่างามและยังคงความนิยมมาจนถึงปัจจุบันอย่างไม่เสื่อมคลาย
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ารถยนต์จากค่าย Honda นั้นมีวางจำหน่ายอยู่ทั่วโลกมากมายหลายรุ่นหลายแบบเลยทีเดียว แต่รุ่นที่เรียกได้ว่าเป็นรุ่นบุกเบิกและเริ่มต้นที่ช่วยขับเคลื่อนให้ Honda ประสบความสำเร็จมาได้จนถึงปัจจุบันทั้งในรถยนต์และรถจักรยานยนต์และได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่องนั่นก็คือ
1. Honda Civic เป็นรถยนต์ที่ได้มีการเปิดตัวครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2516 เริ่มแรกนั้นเป็นรถสองประตูขนาดเล็ก โดยมีความจุเครื่องยนต์ 1169 ซีซี และ 1238 ซีซี ต่อมาในปัจจุบันมีการปรับปรุงให้มีขนาดใหญ่ขึ้น รวมทั้งปรับปรุงเครื่องยนต์และความกว้างในห้องผู้โดยสารให้มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยรุ่นปัจจุบันที่มีขายในเมืองไทยเป็นเครื่องยนต์ขนาด 1.8 ลิตร และ 1.5 ลิตร เทอร์โบ ซึ่งก็มีถึง 10 Generation ด้วยกัน ได้แก่
- Generation ที่ 1 (พ.ศ. 2516–2522) เป็นรุ่นที่อยู่ในยุคที่ยังไม่ได้มีเทคโนโลยีการประหยัดเชื้อเพลิงเท่าไหร่นัก โดยรุ่นที่ออกวางจำหน่ายในขณะนั้นจะมีระบบเกียร์อยู่ 3 แบบ คือ เกียร์อัตโนมัติ 2 สปีด เกียร์ธรรมดา 4 สปีด และเกียร์ธรรมดา 5 สปีด โดยจะผลิตเกียร์ธรรมดา 4 สปีด เป็นมาตรฐาน ผลิตมาทั้งสิ้นถึง 7 รุ่น โดยในรุ่นบุกเบิกนั้นมีแรงม้าเพียง 50 แรงม้าเท่านั้น และได้ค่อยๆ พัฒนาขึ้น โดยรุ่นสุดท้ายของโฉมนี้มีแรงม้าอยู่ที่ 60 แรงม้า โดยในประเทศไทยก็ได้มีการเข้ามาจำหน่ายโดยบริษัท Asian Honda จำกัดเพียงไม่กี่คันเท่านั้น
- Generation ที่ 2 (พ.ศ. 2523–2526) ในรุ่นนี้จะมีตัวถัง 4 แบบ คือ hatchback 3 ประตู ซีดาน 4 ประตู hatchback 5 ประตู และ station wagon 5 ประตู มีระบบเกียร์ให้เลือกซื้อ 4 ระบบ คือ เกียร์อัตโนมัติ 2 กับ 3 สปีด และเกียร์ธรรมดา 4 กับ 5 สปีด ผลิตมาทั้งสิ้น 4 รุ่นปี มีแรงม้า 55 กับ 67 แรงม้า และมีเครื่องยนต์ขนาด 1.3 กับ 1.5 ลิตร ตามลำดับ โดยในรุ่นนี้ก็จะเป็นโฉมสุดท้ายที่ซิวิคผลิตรถเกียร์อัตโนมัติแบบ 2 ระดับเกียร์ โดยถัดจากนี้ก็ไม่มีการผลิตอีก
- Generation ที่ 3 (พ.ศ. 2527–2530) เป็นโฉมแรกที่มีการทำตลาดในประเทศไทยอย่างเป็นทางการโดยบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2527 ซึ่งเป็นยุคที่ฮอนด้ายังเพิ่งเริ่มเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และยังเป็น Civic รุ่นแรกที่ประกอบในประเทศอีกด้วย โดยมีเครื่องยนต์ขนาดเดียว คือ 1.5 ลิตร มี 3 ระบบเกียร์ คือเกียร์ธรรมดา 5 สปีด เกียร์อัตโนมัติ 3 สปีด และเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด และโฉมนี้ก็เป็นโฉมสุดท้ายที่มีการผลิตเกียร์อัตโนมัติ แบบ 3 สปีด
- Generation ที่ 4 (พ.ศ. 2531–2534) สำหรับในรุ่นนี้ก็จะมีระบบเกียร์ให้เลือกถึง 4 ระบบ คือเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด เกียร์ธรรมดา 4 สปีด เกียร์ธรรมดา 5 สปีด และเกียร์ธรรมดา 6 สปีด มีเครื่องยนต์ 4 ขนาด คือ 1.3, 1.4, 1.5 และ 1.6 ลิตร ในไทยนิยมเรียกว่า "โฉมไฟท้าย 2 ชั้น" โดยเป็นโฉมสุดท้ายที่มีการผลิตเกียร์ธรรมดา 4 สปีด
- Generation ที่ 5 (พ.ศ. 2535–2538) ในรุ่นนี้ก็จะมีการปรับเปลี่ยนรูปโฉมให้มีความโค้งมนดูทันสมัยสวยงามมากขึ้น มีระบบเกียร์ 2 ระบบ คือเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด และเกียร์ธรรมดา 5 สปีด มีเครื่องยนต์ 2 ขนาด คือ 1.3, 1.5, 1.6 และ 1.8 ลิตร ในไทยนิยมเรียกโฉมนี้ว่า "โฉมเตารีด"
- Generation ที่ 6 (พ.ศ. 2539 – 2543) ในรุ่นนี้จะเรียกว่า "โฉมตาโต" โดยมีการผลิตมาทั้งสิ้น 5 รุ่น โดยในประเทศไทยมีจำหน่ายรุ่นซีดาน 4 ประตู และคูเป้ 2 ประตู มีขนาดเครื่องยนต์ 3 ขนาด คือ 1.3, 1.4, 1.5 และ 1.6 ลิตร มีระบบเกียร์ 3 ระบบ คือเกียร์อัตโนมัติ CVT เกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด และเกียร์ธรรมดา 5 สปีด
- Generation ที่ 7 (พ.ศ. 2543 – 2549) โฉมนี้ในบ้านเรานิยมเรียกกันว่า "โฉม Dimension" มีการผลิตมาทั้งสิ้น 5 รุ่น โดยในประเทศไทยฮอนด้าจะจัดจำหน่ายเฉพาะตัวถังซีดาน 4 ประตู และเพิ่มความหลากหลายของขนาดเครื่องยนต์มากขึ้น คือ 1.3, 1.5, 1.6, 1.7 และ 2.0 ลิตร มีระบบเกียร์ 5 ระบบ คือเกียร์อัตโนมัติ CVT, เกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด, เกียร์อัตโนมัติ 5 สปีด, เกียร์ธรรมดา 5 สปีด และเกียร์ธรรมดา 6 สปีด
- Generation ที่ 8 (ค.ศ. 2006–2011) โฉมนี้มีตัวถัง 4 แบบ คือแบบคูเป้ 2 ประตู hatchback 3 ประตู ซีดาน 4 ประตู และ station wagon 5 ประตู โดยในประเทศไทยจะจำหน่ายเฉพาะแบบซีดาน 4 ประตู มีระบบเกียร์ 3 แบบ คือเกียร์อัตโนมัติ 5 สปีด เกียร์ธรรมดา 5 สปีด และเกียร์ธรรมดา 6 สปีด ในประเทศไทยมีการจำหน่ายเฉพาะรุ่น 1.8 เกียร์ธรรมดาและเกียร์อัตโนมัติ 5 สปีด และ 2.0 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ 5 สปีด โดยในรุ่นปี พ.ศ. 2551 ก็ได้มีการพัฒนาเครื่องยนต์ชนิดใหม่ในรถซีวิค ให้สามารถใช้แก๊สโซฮอล์ E20 ได้
- Generation ที่ 9 (พ.ศ. 2554–2558) โฉมนี้ในประเทศไทยนั้นทางฮอนด้าจะจำหน่ายเฉพาะแบบซีดาน 4 ประตู โดยมีจำหน่ายเฉพาะรุ่น 1.8 เกียร์ธรรมดาและเกียร์อัตโนมัติ 5 สปีด และ 2.0 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ 5 สปีด เท่านั้น และเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2013 ก็ได้เปิดตัวรุ่น Hybrid ในประเทศไทยซึ่งใช้ระบบไฮบริดIMA Integrated hybrid motor ซึ่งทำให้ประหยัดน้ำมันมากขึ้น
- Generation ที่ 10 (พ.ศ. 2558–ปัจจุบัน) บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) ได้มีการเปิดตัวรถฮอนด้า ซีวิค รุ่นที่ 10 เป็นประเทศที่สองต่อจากประเทศสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2016โดยได้ผลิตในโรงงานแห่งใหม่ของฮอนด้าที่จังหวัดปราจีนบุรีเพื่อส่งออกไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยได้แบ่งออกเป็น 4 รุ่นย่อยคือ 1.8 E, 1.8 EL, 1.5 Turbo และ 1.5 Turbo RS
2. Honda Accord เป็นรถซีดานขนาดกลางที่เริ่มต้นสายการผลิตเมื่อปี พ.ศ. 2519 ในประเทศญี่ปุ่นโดยเครื่องที่ออกมาตัวแรกคือเครื่อง 1600 ซีซี โดยรูปทรงที่ออกมามีลักษณะใกล้เคียงกับ Honda Civic ในช่วงนั้น ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 10 Generation โดยใน Generation ที่ 1-4 จัดอยู่ในประเภทรถยนต์ขนาดเล็ก และ Generation ที่ 5-10 จัดอยู่ในประเภทรถยนต์ขนาดกลาง (ยกเว้นโฉมที่ 8 เฉพาะตัวถังแบบ Sedan ที่มีมูนรูฟ จัดอยู่ในประเภทรถยนต์ขนาดใหญ่) โดยปัจจุบันก็ถือว่าเป็นรถสำหรับผู้บริหารที่ได้รับความนิยมมากอีกรุ่นหนึ่ง
- Generation ที่ 1 (รุ่นปี พ.ศ. 2519-2524) ผลิตออกมาทั้งสิ้น 6 รุ่น โดยรุ่นบุกเบิกมีเครื่องยนต์ขนาด 68 แรงม้า ระบบเกียร์มี 3 ระบบ คือ เกียร์ธรรมดา 5 ระดับเกียร์เดินหน้า กับเกียร์อัตโนมัติ 2 กับ 3 ระดับเกียร์เดินหน้า มีตัวถังเพียง 2 แบบ คือ Hatchback 3 ประตู กับ Sedan 4 ประตู มีเครื่องยนต์ให้เลือก 2 ขนาดคือ 1.6 กับ 1.8 ลิตร โดยในช่วงแรกนี้ถือว่าเป็นรถที่ค่อนข้างกินน้ำมันมากพอสมควรจึงยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมนัก
- Generation ที่ 2 (รุ่นปี พ.ศ. 2525-2528) ในรุ่นนี้จะผลิตออกมา 4 รุ่น โดยเป็นรุ่นแรกที่นำไปขึ้นไลน์ประกอบในสหรัฐอเมริกาและเป็นรุ่นแรกที่นำมาขายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยในรุ่นปี พ. ศ. 2527 ก็ได้มีการนำเครื่องยนต์ 1,800 ซีซี ระบบหัวฉีด PGM-FI มาใช้เป็นครั้งแรกในญี่ปุ่นโดยมีพละกำลังมากถึง 130 แรงม้า สำหรับประเทศไทยมีจำหน่ายแค่รุ่นเดียวคือ1,800 ซีซี คาร์บูเรเตอร์ 100 แรงม้า
- Generation ที่ 3 (รุ่นปี พ.ศ. 2529-2532) เปิดตัวครั้งแรกในเดือนมิถุนายน พ. ศ. 2528 ในบ้านเราจะเรียกว่ารุ่นท้ายดำแดง 2 ชั้น โดยผลิตออกมาทั้งสิ้น 4 รุ่นด้วยกัน และได้รับรางวัลรถยนต์นั่งยอดเยี่ยมแห่งปีของญี่ปุ่นประจำปี 2529 อีกด้วย
- Generation ที่ 4 (รุ่นปี พ.ศ. 2533-2536) รุ่นนี้จะเน้นไปที่การขายในตลาดบน ซึ่งเป็นรุ่นที่ประสบความสำเร็จและขายดีที่สุดถึง 3 ปีซ้อน โดยในบ้านเราจะเรียกว่ารุ่นตาเพชร
- Generation ที่ 5 (รุ่นปี พ.ศ. 2536-2540) ผลิตออกมาทั้งสิ้น 4 รุ่นด้วยกัน โดยขยับขนาดตัวถังจากรถยนต์นั่งขนาดเล็กเป็นขนาดกลาง รวมไปถึงได้ทำการเพิ่มเทคโนโลยีและ Option ต่าง ๆ เข้าไปมากพอสมควร สำหรับในบ้านเราจะเรียกว่ารุ่นไฟท้ายสองก้อนโดยเปิดตัวเมื่อปี พ.ศ 2537
- Generation ที่ 6 (รุ่นปี พ.ศ. 2541-2545) สำหรับในโฉมนี้ก็จะผลิตออกมา 5 รุ่นด้วยกัน โดยเป็นโฉมเก่าที่สุดที่ทางฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) รับรองให้รองรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์อย่างเป็นทางการ เป็นช่วงสุดท้ายที่มีรุ่นเกียร์ธรรมดา ในบ้านเราจะเรียกว่ารุ่นงูเห่า
- Generation ที่ 7 (รุ่นปี พ.ศ. 2546-2550) ออกมาด้วยกัน 5 รุ่นโดยเปิดตัวในปี พศ. 2545 โดยเป็นรุ่นแรกที่มีถุงลมนิรภัยด้านข้าง สำหรับในบ้านเราเปิดตัวใน ช่วงต้นปี 2546 เรียกกันว่ารุ่นปลาวาฬ
- Generation ที่ 8 (รุ่นปี พ.ศ. 2551-2555) ในรุ่นนี้จะแบ่งตัวถังออกเป็น 2 เวอร์ชั่นคือ เวอร์ชันยุโรป–ญี่ปุ่น (CU1/2) และเวอร์ชันทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยก็จะเป็นรุ่นเครื่องยนต์ขนาด 2.0 ลิตร 156 แรงม้า เครื่องยนต์ 2.4 ลิตร 180 แรงม้า และเครื่องยนต์ V6 ขนาด 3.5 ลิตร 275 แรงม้า โดยเครื่องยนต์ทั้งหมดสามารถรองรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ได้
- Generation ที่ 9 (รุ่นปี พ.ศ. 2556-พ.ศ. 2560) ในรุ่นนี้จะมี 2 ตัวถังคือแบบ Coupe 2 ประตูและ Sedan 4 ประตู โดยได้มีการปรับปรุงให้สามารถรองรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ได้ และยังมีรุ่น Hybrid และ Plug in Hybrid จำหน่ายด้วย
- Generation ที่ 10 (รุ่นปี พ.ศ. 2560–ปัจจุบัน) สำหรับใน Generation ปัจจุบันนี้ได้มีการเปิดตัวเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2560 โดยได้ทำการติดตั้ง Honda sensing มาในทุกรุ่นย่อยและใช้เครื่องยนต์ขนาด 1.5 ลิตรเทอร์โบในรุ่นเริ่มต้นและเครื่องยนต์ 2.0 ลิตรเทอร์โบในรุ่นท็อป
3. Honda City เป็นรถขนาดเล็กมาก (Subcompact car) ของทาง Honda เริ่มผลิตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 โดยเป็นรถยนต์ที่ประสบความสำเร็จมากในแถบเอเชีย สำหรับในบ้านเราก็เริ่มเป็นที่รู้จักกันในช่วง Generation ที่ 3 โดยมีทั้งหมด 6 Generation ดังนี้
- Generation ที่ 1 (พ.ศ. 2524 - 2529) เริ่มผลิตเป็นรถ hatchback 3 ประตู มีจุดเด่นตรงที่รถมีความสูงมาก ให้มีพื้นที่ภายในกว้างขวางทั้งที่เป็นรถขนาดเล็ก ซึ่งก็ได้กระแสตอบรับที่ดีมากพอสมควร ต่อมาก็ได้เริ่มทำรถแบบเปิดประทุนได้และแบบรถสปอร์ตอีกด้วย
- Generation ที่ 2 (พ.ศ. 2529 - 2537) สำหรับใน Generation นี้ก็ได้ยกเลิกการผลิตในรุ่นเปิดประทุนเพราะไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่นัก และได้หยุดการผลิตลงเมื่อปี 2537 และพักการผลิตไปนานถึง 2 ปี ก่อนที่จะมี Generation ที่ 3 เริ่มเป็นที่รู้จักกันในบ้านเรา
- Generation ที่ 3 (พ.ศ. 2539 - 2545) เป็นรุ่นแรกที่ทางบริษัทฮอนด้ามอเตอร์ได้นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย เรียกง่าย ๆ ว่า city รุ่นแรก โดยได้มีการปรับโฉมเพื่อเข้ามาทำตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะ โดยเฉพาะในรุ่น Honda City Type Z ที่ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักกันมากในประเทศไทย
- Generation ที่ 4 (พ.ศ. 2545 - 2551) สำหรับใน Generation นี้ก็ได้รับการปรับโฉมเล็กน้อยหรือที่เรารู้จักแกในชื่อ Honda City ZX โดยใช้ระบบเกียร์แบบใหม่ CVT 7 Speed และมีการใช้เครื่องยนต์หัวฉีด i-DSI หรือ VTEC ที่มีความโดดเด่นในเรื่องของการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง
- Generation ที่ 5 (พ.ศ. 2551 - พ.ศ. 2557) ในรุ่นนี้ก็จะมีการปรับเปลี่ยนรูปโฉมใหม่ที่ดูโฉบเฉี่ยวทันสมัยและกว้างขวางมากยิ่งขึ้น โดยเป็นรถที่ได้รับรางวัลรถยนต์ยอดเยี่ยมแห่งปีระดับประเทศไทย 2 ปีซ้อนในรุ่นรถยนต์ประเภทนั่งไม่เกิน 1500 cc เรียกได้ว่าเป็นรุ่นที่ได้รับความนิยมมาก สามารถทำยอดได้ทะลุเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้อีกด้วย
- Generation ที่ 6 (พ.ศ. 2557 - ปัจจุบัน) ในรุ่นปัจจุบันก็ได้มีการเปิดตัวในประเทศไทยเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2557 โดยยังใช้เครื่องยนต์ตัวเดิมขนาด 1.5 ลิตรแต่ถูกลดแรงม้าเหลือ 117 แรงม้า รองรับน้ำมัน E 85 ในทุกรุ่น พร้อมระบบ Econ Assist ที่ช่วยให้การขับขี่ประหยัดน้ำมันมากขึ้น รวมไปถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ช่วยในเรื่องของความสะดวกสบายและความปลอดภัยในการใช้งาน และในเดือนมกราคมปี 2560 ก็ได้มีการออกรุ่นปรับโฉมออกมาอีกหนึ่งรุ่น
Dealer คุณภาพของ Honda Motor มีอยู่ทุกที่ทั่วประเทศ พร้อมให้บริการสำหรับการซื้อรถ Honda ได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง
ในส่วนการขายและบริการรถยนต์ฮอนด้าทุกรุ่นนั้นก็จะดำเนินการโดยบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ที่อาคารภิรัชทาวเวอร์ แอท ไบเทค เขตบางนา กรุงเทพมหานคร และในปัจจุบันฮอนด้าก็มีโชว์รูมรถยนต์ทั้งหมดมากกว่า 228 แห่งทั่วประเทศ และยังคงขยายเครือข่ายเพิ่มขึ้นอีกเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยทุกโชว์รูมของฮอนด้านั้น ลูกค้าจะได้พบกับรถยนต์ฮอนด้ารุ่นใหม่ ๆ และที่ปรึกษาการขายที่พร้อมให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์อย่างรอบด้าน รวมไปถึงการให้บริการด้วยความซื่อสัตย์จริงใจกับลูกค้าทุกคน เพื่อสร้างความสุขและความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้าด้วยความรวดเร็วในราคาที่ย่อมเยา โดยผู้ซื้อสามารถค้นหาศูนย์บริการใกล้บ้านได้ผ่านทางเว็บไซต์ www.honda.co.th ได้ตลอดเวลา
ด้วยประวัติอันยาวนาน เทคโนโลยีที่ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง คุณภาพและมาตรฐานที่ไว้ใจได้ รวมไปถึงบริการและการดูแลลูกค้าที่ทั่วถึงและรวดเร็วประทับใจ นั่นทำให้รถยนต์ Honda ยังคงครองความนิยมมาได้อย่างต่อเนื่องและยาวนานจนถึงทุกวันนี้